การแข่งขันระหว่างแอปพลิเคชันขนส่งอาหารคาดว่าจะเข้มข้นขึ้น เมื่อมีผู้แข่งหน้าใหม่หลายรายเข้าสู่ตลาดมูลค่า 3.5 หมื่นล้านบาทนี้ โดยบางรายมีเป้าหมายเพื่อใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าเพื่อต่อยอดในธุรกิจอื่นๆ ของพวกเขา
GrabFood, Get, Line Man และ Foodpanda เป็นแอปสั่งอาหารรายใหญ่ในตลาดประเทศไทย คู่แข่งเจ้าใหม่ๆ เข้ามาในธุรกิจนี้มากขึ้น รวมถึง ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่เปิดตัวแพลตฟอร์มส่งอาหารอย่าง Robinhood ในวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมา
Robinhood มีการยกเว้นค่าธรรมเนียมกำไรขั้นต้น (Gross Profit หรือ GP) ที่เก็บจากผู้ขายอาหาร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการดึงร้านอาหารและลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์ม
“เราคาดว่าธุรกิจสั่งอาหารจะเข้มข้นขึ้นในครึ่งปีหลังเนื่องจากผู้แข่งเจ้าใหม่บังคับให้ผู้เล่นรายใหญ่ที่มีอยู่ต้องปรับกลยุทธ์เพื่อปกป้องส่วนแบ่งการตลาด” คุณอนันตพร ลาภสักการ นักวิจัยอาวุโสของศูนย์วิจัยกสิกรไทย (K-Research) กล่าวกับบางกอกโพสต์
K-Research แก้ไขการประมาณการการเติบโตของตลาดเป็น 19-21% จาก 3.5 หมื่นล้านบาทในปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 17% ในปีนี้
คุณอนันตพร กล่าวว่า แม้ว่าธุรกิจสั่งอาหารจะยังคงทุ่มเงินจำนวนมากในการจัดโปรโมชั่นและคิดค่าจัดส่งที่ต่ำเพื่อดึงลูกค้า ผู้เล่นเหล่านี้สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลลูกค้าสำหรับธุรกิจอื่นๆ รวมถึงการให้เงินกู้อีกด้วย
“ภายใน 1 ปี ผู้แข่งที่ไม่มีเงินทุนเพียงพออาจหายไป” คุณอนันตพรกล่าว “ภายใน 3-5 ปี ผู้เล่นที่สามารถอยู่รอดได้คือผู้ที่มีเงินในกระเป๋าอยู่มาก”
ในระยะสั้น ผู้เล่นที่มีค่าจัดส่งต่ำและมีตัวเลือกอาหารที่หลากหลาย จะสามารถอยู่รอดได้ ผู้ประกอบการรายย่อยอาจต้องเน้นอาหารเฉพาะประเภท
คุณวีรเดช พาณิชย์วิสัย ผู้จัดการฝ่ายวิจัยอาวุโสของบริษัทวิจัยไอที IDC Thailand เห็นพ้องกันว่าการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตลาดการสั่งอาหารกำลังจะร้อนแรงขึ้น เช่นเดียวกับการแข่งขันในส่วนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ผู้ชนะคือผู้ที่มีเงินในกระเป๋ามากและจะครองส่วนแบ่งตลาดในระดับสูง
ในธุรกิจรถรับส่งผู้โดยสาร ผู้เล่นเพียงหนึ่งหรือสองรายเท่านั้นจะสามารถควบคุมตลาดได้ในที่สุด คุณวีรเดชกล่าว
“แอปสั่งอาหารสามารถเริ่มต้นได้เนื่องจากโปรโมชั่นและความต้องการที่สูงขึ้นท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัส และตลาดจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องในฤดูฝน” เขากล่าว
สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ ผู้บริหารระดับสูงของ Shippop ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพที่รวบรวมบริการ e-logistics กล่าวว่าความต้องการแอพสั่งอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะในจังหวัด เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต
อีกหนึ่งแพลตฟอร์มการสั่งอาหารบนเว็บไซต์ hiw.asia ได้ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับแอปบริการส่งของอย่าง Popman
ม.ล.กมลพฤทธิ์ ชุมพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Skootar ผู้ให้บริการจัดส่งที่เป็นพันธมิตรกับแอป Robinhood กล่าวว่าตลาดการสั่งอาหารมีรูปแบบธุรกิจ 2 แบบ
แบบแรก คือ ผู้ให้บริการส่งอาหารให้ร้านอาหารจ่ายค่าธรรมเนียม GP และเรียกเก็บค่าจัดส่งในระดับต่ำจากลูกค้า อีกแบบหนึ่ง คือ พวกเขาจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม GP แต่ร้านค้าจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเมื่อต้องการเข้าร่วมโปรโมชั่นค่าการจัดส่งราคาถูก
ลิงก์อ้างอิง: www.bangkokpost.com/business/1932164/new-food-delivery-apps-seeking-a-bite