Your browser does not support JavaScript!

ศูนย์บริการคลังสินค้าลาซาด้าสู่ศูนย์อาลีบาบา

Lazada-Fulfilment-to-Alibaba

ลาซาด้า ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซ มีแผนจะย้ายศูนย์กระจายสินค้าในสมุทรปราการไปยังสถานที่แห่งใหม่ที่ดำเนินการโดยบริษัทแม่อาลีบาบา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ศูนย์แห่งใหม่มีความสามารถที่สูงขึ้นในการรองรับพัสดุ และมีระบบอัตโนมัติที่จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการจัดส่งสินค้า

 

“ลาซาด้ายังคงลงทุนในประเทศไทยในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์เพื่อเพิ่มความเร็วในการจัดส่ง โดยมีเป้าหมายในการส่งสินค้าภายในวันเดียวกัน” Jack Zhang ซีอีโอของลาซาด้าประเทศไทย กล่าว

 

สนิฎา มานะกิจภิญโญ รองประธานอาวุโส ลาซาด้าประเทศไทย กล่าวว่าศูนย์กระจายสินค้าปัจจุบันของลาซาด้าในอำเภอบางพลี มีพื้นที่ 24,000 ตารางเมตรเทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 5 สนาม 

 

ศูนย์แห่งนี้ตั้งอยู่ในศูนย์โลจิสติกส์ ทีพาร์คบางพลี 3 รองรับร้านค้าใน LazMall ซึ่งเป็นที่ที่ผู้ขายเปิดร้านค้าออนไลน์สำหรับแบรนด์ของตน มากถึง 70 แบรนด์ และมีสินค้ารวมกว่า 50,000 หน่วย (SKUs) ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์สำหรับสัตว์เลี้ยง สมาร์ทโฟน และเครื่องประดับ 

 

ศูนย์กระจายสินค้าปัจจุบันรองรับสินค้าขาเข้าจากผู้ขาย พื้นที่เก็บสินค้าให้เช่า บริการแพ็คสินค้า การคืนสินค้า และการเคลมสินค้ากรณีสินค้าเสียหายและสูญหาย โดยสถานที่จัดเก็บจะถูกแบ่งออกเป็นโซนต่างๆ ตามกลุ่มผลิตภัณฑ์ เช่น สินค้าที่มีมูลค่าสูง สินค้าขนาดเล็ก และสินค้าที่ต้องเก็บในพื้นที่ควบคุมความเย็น เป็นต้น

 

ศูนย์กระจายสินค้าใหม่ใน EEC ที่อาลีบาบาเป็นเจ้าของ มีขนาดใหญ่กว่าศูนย์ที่มีอยู่ถึงสามเท่า คุณสนิฎา ซึ่งควบตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายกระจายสินค้าและโครงสร้างพื้นฐานของลาซาด้าเอ็กซ์เพรสกล่าว

 

ค่าเฉลี่ยในการดำเนินการบรรจุสินค้า ติดฉลากโดยเจ้าหน้าที่ และนำไปวางบนสายพานเพื่อเตรียมการจัดส่งของศูนย์กระจายสินค้าปัจจุบันจะอยู่ประมาณสองชั่วโมง ซึ่งกระบวนการนี้สามารถเสร็จได้ใน 14 นาทีที่ศูนย์ใหม่ 

 

“ในช่วงที่มีการระบาด เรามีผู้ขายรายใหม่ในระบบถึง 90,000 ราย” คุณสนิฎาระบุ 

 

ศูนย์กระจายสินค้าปัจจุบันได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่องในช่วงห้าปีที่ผ่านมา มีการนำเทคโนโลยีของอาลีบาบามาใช้ในปี 2560 เช่น Dabao Warehouse Management System ที่ช่วยควบคุมสินค้าคงคลัง การมองเห็นคำสั่งซื้อของลูกค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการกระจายสินค้าในสเกลที่เพิ่มขึ้น 

 

ระบบนี้เชื่อมต่อกับระบบ Workforce Management System และทีมพนักงานที่มีทักษะสามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการจัดการพัสดุ

 

“ในช่วงแรกๆ ก่อนที่เทคโนโลยีของอาลีบาบาจะถูกนำมาใช้ เราใช้เวลาในการเตรียมสินค้าโดยเฉลี่ยประมาณ 4-6 ชั่วโมง” คุณสนิฎากล่าว

 

ศูนย์กระจายสินค้าของลาซาด้ามีพนักงาน 180 คน ทำงานสองกะ ตั้งแต่ 8.00 น. ถึง 23.00 น. สำหรับแคมเปญใหญ่ เช่น เทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ในวันที่ 11 พฤศจิกายน จะมีการใช้พนักงานชั่วคราวมาเสริม ทำให้มีพนักงานรวมมากกว่า 400 คน และทำงานจนถึงตี 3

 

“เงินสามารถซื้อเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยได้ แต่มนุษย์คือกุญแจสู่ความสำเร็จ” คุณสนิฎากล่าว

 

ส่วนงานโลจิสติกส์ของศูนย์กระจายสินค้าประมวลผลคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 35 เปอร์เซนต์ ในช่วงเทศกาล 11.11 ซึ่งผู้ใช้บริการที่สั่งซื้อก่อน 23.00 น. จะได้รับพัสดุภายในเวลา 8.00 น. ของเช้าวันรุ่งขึ้น 

 

ศูนย์กระจายสินค้าเป็นการลงทุนระยะยาว และลาซาด้าต้องการแบรนด์และผู้ขายออนไลน์มากขึ้น เพื่อใช้บริการจัดการพัสดุกับศูนย์กระจายสินค้าของลาซาด้า โดยบริษัทจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการดำเนินการตามคำสั่งซื้อและค่าเช่าพื้นที่ในการเก็บสินค้าคงคลัง “แบรนด์และผู้ขายสามารถใช้เวลามุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาดมากกว่าการจัดส่ง” คุณสนิฎากล่าว

 

ในภูมิภาคอาเซียน ศูนย์กระจายของลาซาด้าในประเทศไทยใช้เวลาในการจัดการการกระจายสินค้าจากขาเข้าไปยังขาออกได้เร็วที่สุด ศูนย์นี้เป็นศูนย์กึ่งอัตโนมัติที่ใช้พนักงานจัดการสินค้าขาเข้า จัดเก็บ และดำเนินการบรรจุหีบห่อ ส่วนการจัดการขาออกเป็นไปโดยอัตโนมัติ

 

เธอกล่าวอีกว่า ระบบหุ่นยนต์จะถูกนำมาใช้มากขึ้นในการขนส่ง ตั้งแต่การหยิบจับ การจัดการ และการส่งมอบสินค้า

 

ลิงก์อ้างอิง: www.bangkokpost.com/business/2022075/lazada-fulfilment-goes-to-alibaba-site

เมชิตา ลาภสุวรรณ

อัพเดทล่าสุด 20 กรกฎาคม 2021

ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ที่มีมากประสบการณ์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ปัจจุบันเธอแบ่งปันความสนใจและความรู้ที่เธอมีเกี่ยวกับโลจิสติกส์ที่ Logisticsbid ประเทศไทย นอกจากความรักในงานสื่อสารมวลชนแล้ว เธอยังเป็นนักวิ่งอัลตร้ามาราธอนที่รักการออกกำลังกายอยู่เสมอ