Your browser does not support JavaScript!

การขนส่งในไมล์สุดท้ายจะเป็นข้อได้เปรียบหรืออุปสรรคต่อธุรกิจ

last-mile-obstacle-advantage

เทคโนโลยีอัตโนมัติและระบบการติดตามยังคงเปลี่ยนแปลงระบบซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ให้ผู้ค้าปลีกทั่วโลกและช่วยให้บริษัทต่างๆ ขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีดิจิทัลเหล่านี้ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในธุรกิจหลายๆ สาย และได้เพิ่มโอกาสมากมายให้กับผู้ค้าปลีกที่จะได้เติบโต

ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ช่วยให้เกิดการประหยัดต่อขนาดหรือ economy of scale แต่ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่าการดำเนินงานของซัพพลายเชนจะสามารถตอบสนองความต้องการที่มากขึ้นได้

ผู้ค้าปลีกจึงต้องพึ่งพาพาร์ทเนอร์การขนส่งที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถส่งของตามสัญญาที่ทำไว้กับลูกค้า ดังนั้น การเลือกใช้ระบบอัตโนมัติในคลังสินค้าจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำเนินงานของผู้ค้าปลีก ซึ่งจะช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถส่งของได้ภายในวัน หรือภายในวันถัดไป

McKinsey Global Institute ประมาณการว่าอุตสาหกรรมการขนส่งและคลังสินค้ามีระดับศักยภาพในการทำงานแบบอัตโนมัติสูงเป็นอันดับสามเมื่อเทียบกับทุกภาคธุรกิจ และการเข้ามาของ Amazon ทำให้ผู้ให้บริการขนส่งสามารถให้บริการที่ดีกว่าในราคาที่แข่งขันได้ จากการเติบโตของ E-commerce อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าต้องการการส่งในไมล์สุดท้ายที่รวดเร็วและสามารถติดตามการสั่งซื้อของพวกเขาได้ 

ผู้บริโภคปัจจุบันมีการคาดหวังต่อบริการส่งของที่มีความโปร่งใสในเรื่องของข้อมูล และความชัดเจนของเวลาในการจัดส่ง

ผู้ค้าปลีกหลายรายเริ่มมีการให้บริการส่งของในระยะเวลาที่สั้นลง เพื่อเพื่มความสะดวก และทางเลือกที่หลากหลายให้แก่ลูกค้าของพวกเขา การใช้กลยุทธ์นี้อาจทำให้ลูกค้าใช้จ่ายมากขึ้นแต่ก็ทำให้เกิดปัญหากับผู้ค้าปลีกที่ยังไม่สามารถรับมือกับความต้องการได้

แน่นอนว่ามันเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนและโลจิสติกส์ James Kinniburgh ผู้จัดการหุ้นส่วนระดับชาติของ บริษัท ซอฟต์แวร์การขนส่ง SmartFreight กล่าว

ในขณะที่ผู้ให้บริการขนส่งชั้นนำมีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถรองรับความต้องการในสเกลสูงได้ และขนส่งได้อย่างแม่นยำ แต่ Kinniburgh กล่าวว่า บริษัทขนส่งในระดับรองลงมา และบริษัทขนาดเล็กที่มีความเป็นอิสระสูง กำลังไล่ตามบริษัทชั้นนำอยู่ และเป็นที่น่าจับตามอง

ผู้ให้บริการขนส่งที่ไม่มีวิธีการและระบบการดำเนินงานอัตโนมัติที่จะหยุดข้อผิดพลาดที่เกิดจากคนในการขนส่งไมล์สุดท้ายจะไม่สามารถประหยัดต้นทุนและควบคุมต้นทุนของผู้ค้าปลีกได้ อีกทั้งยังไม่สามารถให้ความโปร่งใสในการจัดส่งและการรายงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพการดำเนินงานของผู้ให้บริการขนส่ง

เราเจอลูกค้าที่ใช้ระบบขนส่งถึง 3 ระบบจากทั้งหมด 4 ระบบ โดยแต่ละระบบพยายามหาวิธีจัดการการจัดส่งให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด และมีการบันทึกราคาขนส่งและติดตามการขนส่งแบบแมนวล” Kinniburgh ระบุ

“การรวมระบบทั้งหมดเหล่านั้นเข้าไว้ในโซลูชั่นเดียวกัน คือสิ่งที่จะทำให้บริษัทสามารถเริ่มควบคุมระบบการขนส่งสินค้าได้ ดังนั้น เมื่อมีคำสั่งซื้อจากเว็บไซต์ของผู้ค้าปลีก ข้อมูลการสั่งซื้อนั้นจะถูกถ่ายโอนและจัดทำฉลากสำหรับการจัดส่งทันที โดยผู้ค้าปลีกไม่ต้องใช้คนในการบันทึกข้อมูลเข้าระบบหรือเขียนบันทึกการจัดส่ง”

 

SmartFreight เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม WiseTech Global ซึ่งเป็นผู้พัฒนาและผู้ให้บริการชั้นนำด้านโซลูชั่นซอฟต์แวร์สำหรับอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ทั่วโลก ลูกค้าของบริษัทประกอบด้วยบริษัทโลจิสติกส์มากกว่า 8,000 แห่ง ใน 130 ประเทศทั่วโลก

SmartFreight ในแต่ละปีมีมูลค่าการขนส่งมากกว่า $600,000,000 ต่อปี 

“เราเป็นแพลตฟอร์มผู้ให้บริการขนส่งในหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น เราจึงสามารถมีแพลตฟอร์มเดียวให้แก่ผู้ให้บริการในหลายๆ รูปแบบ” Kinniburgh กล่าว “ทำให้คุณสามารถเปรียบเทียบราคา ความเร็ว และการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด”

ระบบการติดตามได้เป็นองค์ประกอบสำคัญต่อผู้บริโภค ช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถให้ข้อมูลที่อัพเดทล่าสุดเกี่ยวกับคำสั่งซื้อของลูกค้า

ความต้องการของลูกค้า E-commerce สำหรับการรับการแจ้งเตือนและรายละเอียดสถานะผ่านอุปกรณ์พกพา เป็นแรงผลักดันให้บริษัทขนส่งและผู้ให้บริการเทคโนโลยีด้านซัพพลายเชนพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของพวกเขา โดยลูกค้ามีความต้องการการแจ้งเตือน เมื่อสินค้าของพวกเขาถูกจัดส่ง และการอัพเดทสถานะการจัดส่งหลังจากนั้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดี ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ไม่เคยไปใช้บริการที่หน้าร้านและมีความสัมพันธ์กับร้านค้าผ่านทางเว็บไซต์เท่านั้น

“ประสบการณ์ของลูกค้ามีความสำคัญมาก ลูกค้าซื้อของจากผู้ค้าปลีก และตำหนิผู้ค้าปลีกเมื่อบริการที่ได้รับไม่เป็นในทิศทางเดียวกับหน้าเว็บไซต์ที่ทำขึ้นมาอย่างดี”

“ในขณะที่เว็บไซต์ E-commerce มีฟีเจอร์หรือลูกเล่นที่น่าสนใจ ผู้ค้าปลีกยังจำเป็นต้องนำสินค้าออกจากคลังสินค้า และจัดส่งให้กับลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพและตรงเวลา”

ลิงก์อ้างอิง: insideretail.com.au/news/the-last-mile-obstacle-or-advantage-201911

เมชิตา ลาภสุวรรณ

อัพเดทล่าสุด 10 มิถุนายน 2020

เมชิตาเป็นบรรณาธิการของ Logisticsbid ประเทศไทยมาตั้งแต่ริเริ่ม โดยเธอสำเร็จการศึกษาด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และเป็นคนสำคัญในการคิดและนำเสนอเนื้อหาด้านโลจิสติกส์ที่เป็นประโยชน์