Your browser does not support JavaScript!

วิธีทำให้การซื้อขายผ่านออนไลน์ของคุณเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

By Editor Logisticsbid - 13 สิงหาคม 2020

Environmental Friendly Online Shopping

การซื้อขายออนไลน์ยังคงเติบโตต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2018 ธุรกิจค้าปลีกมีมูลค่าตลาดในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ 3.81 แสนล้านปอนด์ ซึ่งเกือบ 1 ใน 5 เป็นมูลค่าการขายออนไลน์ โดยแบ่งเป็นมูลค่าจากสินค้าอุปโภคบริโภคในบ้าน 1.23 หมื่นล้านปอนด์ และรายการที่ไม่ใช่อาหาร 5.88 หมื่นล้านปอนด์ 

เช่นเดียวกับกิจกรรมของมนุษย์เกือบทุกประเภท พฤติกรรมนี้จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก การซื้อของออนไลน์จะใช้บรรจุภัณฑ์เป็นตันๆ (โดยรวมแล้วการค้าปลีกของอังกฤษใช้พลาสติกถึง 5.9 หมื่นล้านชิ้นในแต่ละปี) และมลพิษทางอากาศจำนวนมากในการขนส่งบนถนน

แต่มีวิธีที่ผู้ค้าปลีกและผู้บริโภคสามารถใช้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากพฤติกรรมการซื้อของเรา

ยกตัวอย่างจากร้านขายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ในสหราชอาณาจักร เช่น Tesco (มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 42.8) Asda (ร้อยละ 18.41) Ocado (ร้อยละ 16.16) และ Sainsbury’s (ร้อยละ 14.09) เป็นต้น องค์กรเหล่านี้มีทรัพยากรมากพอที่จะลงทุนในยานพาหนะที่ปลอดมลพิษสำหรับบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน โดยการขนส่งโดยยานพาหนะเหล่านี้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์น้อยกว่าการที่ลูกค้าขับรถไปซื้อของด้วยตนเอง การจัดส่งให้ลูกค้าหลายๆ เจ้าในการขนส่งครั้งเดียวกันยังช่วยลดจำนวนเที่ยวของรถที่ใช้อีกด้วย

การที่ผู้ค้าปลีกมีช่วงเวลาจัดส่งที่หลากหลายและจำนวนลูกค้าที่เพิ่มขึ้นจากความนิยมในการใช้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ค้าปลีกสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเส้นทางการจัดส่ง และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับการจัดส่งสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ลูกค้าจะไม่ได้รับบริการขนส่งโดยตรงจากผู้ค้าปลีก แต่ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่มักใช้ผู้ให้บริการขนส่งอิสระแทน วิธีการบริหารไมล์สุดท้ายที่แตกต่างกันในลักษณะนี้ส่งผลให้โอกาสที่ผู้ค้าปลีกจะลงทุนกับยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซไอเสียต่ำในลักษณะเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคเป็นไปได้น้อยกว่า ผู้ขนส่งจำนวนมากเป็นผู้ขนส่งอิสระ ซึ่งมักใช้พาหนะส่วนตัวในการจัดส่งพัสดุ

นอกจากนี้ สินค้าที่ไม่ใช่กลุ่มอาหารมักต้องการบรรจุภัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อป้องกันความเสียหายระหว่างการขนส่ง

การจัดส่งที่รวดเร็ว

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่ส่งผลกระทบสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม คือบริการส่งของในวันถัดไปหรือภายในวันเดียวกัน สำหรับสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ผู้ขายจำเป็นต้องมีสต็อคสินค้าที่พร้อมส่ง ซึ่งต้องใช้พื้นที่เก็บและพลังงานในการจัดเก็บและเคลื่อนย้ายเป็นอย่างมาก สำหรับสินค้าอาหาร เพื่อตอบสนองความต้องการแบบทันทีก็ส่งผลให้มีปัญหาขยะอาหารเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการในการขนส่งที่รวดเร็ว จะต้องมีการเพิ่มจำนวนยานพาหนะขนส่งและมักมีการโหลดสินค้าแบบไม่เต็มคันในการขนส่ง

ประเด็นที่ควรพิจารณาอีกประการหนึ่ง คือ การสั่งซื้อออนไลน์ไม่ได้ทดแทนการเดินทางไปร้านค้าของเราเองเสมอ แต่ส่งผลให้ปริมาณคาร์บอนสุทธิเพิ่มขึ้นด้วยซ้ำไป และการวิจัยระบุว่าการคืนสินค้าจากการซื้อของออนไลน์นั้นสูงกว่าการซื้อสินค้าในร้านเป็นอย่างมาก ส่งผลให้จำนวนของเสียเพิ่มขึ้นและการขนส่งเพิ่มขึ้นอีด้วย 

แต่มีทางเลือกในการซื้อของที่ผู้บริโภคสามารถเลือก เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ทางเลือกสีเขียว

ถ้าระยะทางระหว่างผู้บริโภคและผู้ค้าปลีกเป็นระยะทางสั้นๆ หรือน้อยกว่า 3 กิโลเมตร การเดินทางไปซื้อของที่ร้านค้าเองเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การสั่งซื้อของออนไลน์ที่ต้องส่งระยะทางไกลจึงจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

หากเป็นไปได้ สำหรับลูกค้าที่ต้องการได้รับประโยชน์จากการสั่งซื้อของออนไลน์ควรเลือกไปรับของที่ร้านค้าด้วยตนเอง เพื่อลดขั้นตอนในการจัดส่งของผู้ขายที่ไม่จำเป็น

ตู้ล็อคเกอร์เก็บของที่คุณสามารถมารับของที่สั่งไว้ได้อย่างปลอดภัย เป็นทางเลือกที่ช่วยผสมผสานความสะดวกและการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ นอกจากนี้ ระบบ crowdsourcing ก็เป็นอีกนึงช่องทางที่จะทำให้การขนส่งขาสุดท้ายเป็นไปได้อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยบุคคลทั่วไปสามารถเข้ามาช่วยส่งสินค้าในจุดส่งที่อยู่ในเส้นทางการเดินทางของตนเองและได้รับค่าบริการเล็กน้อยจากการขนส่งนั้น

ในมุมมองด้านบรรจุภัณฑ์ ร้านค้าปลีกหลายๆ แห่งมีทางเลือกให้ลูกค้าไม่รับถุงพลาสติกหรือใช้ถุงจากวัตถุดิบทางเลือก ผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมก็ควรหาผู้ให้บริการร้านค้าปลีกที่มีทางเลือกนี้

ผู้ค้าปลีกหลายรายตระหนักถึงความท้าทายเหล่านี้ทั้งหมด และหลายองค์กรกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้ผลิตภัณฑ์ที่ย่อยสลายได้ง่ายตลอดห่วงโซ่อุปทาน และให้ความสำคัญกับ “การปิดห่วง” – ซึ่งผู้ค้าปลีกมีหน้าที่รับผิดชอบในการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ซ้ำ หรือการนำมารีไซเคิล 

แต่องค์ประกอบบางอย่างของการช็อปปิ้งออนไลน์ในปัจจุบันนั้นไม่ยั่งยืน และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพื่อตอบสนองความท้าทายระดับโลกเกี่ยวกับคุณภาพอากาศ และภาวะโลกร้อน โดยรวมแล้ว ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของตลาดค้าปลีกยังเป็นปริศนาที่ซับซ้อน แต่การเลือกวิธีซื้อของแบบสีเขียวของผู้บริโภคนั้นสามารถส่งผลกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

ลิงก์อ้างอิง: insideretail.com.au/news/how-to-make-your-online-shopping-more-environmentally-friendly-201910