Your browser does not support JavaScript!

เหตุผลที่ซัพพลายเชนจีนจะกลายเป็นมาตรฐานใหม่

By Editor Logisticsbid - 27 ธันวาคม 2018

supply chain

ตัวเลขต่างๆ เกี่ยวกับประเทศจีนนั้นล้วนแต่น่าทึ่ง ตลาดค้าปลีกของจีนก็เช่นกัน ตัวอย่างเช่น งานวัน Singles Day (วันที่ 11 พฤศจิกายน) ของจีนคือ งานขายสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีรายได้ถึง 14,300 ล้านเหรียญในปี 2558 และเอาชนะงาน Black Friday ของประเทศตะวันตกไปแล้ว และหากมองให้ดีตัวเลขของจีนนั้นก้าวข้ามไปอีกระดับแล้ว มีการคาดการณ์ว่าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์ของจีน ซึ่งปัจจุบันถือว่าใหญ่ที่สุดในโลก จะเติบโตขึ้นจนใหญ่กว่าตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก 10 อันดับแรกรวมกันถึงร้อยละ 60 ภายในปี 2563!

แต่สิ่งที่ทำให้จีนแตกต่างนั้นไม่ใช่เพียงขนาดของตลาดเพียงอย่างเดียว ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดด้วยจำนวนประชากรมหาศาล แต่ยังเป็นเรื่องของความซับซ้อนที่เหนือชั้นขึ้นเรื่อยๆ ตลาดของจีนไม่เพียงแต่มีผู้ใช้บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือมากที่สุด แต่ยังเป็นตลาดที่บริการธนาคารผ่านโทรศัพท์มือถือสามารถเจาะเข้าไปได้มากที่สุด1 ด้วยผู้ใช้บริการถึงร้อยละ 60-70 ของจำนวนประชากร ซึ่งเป็นอัตราที่สูงเกือบสองเท่าเทียบกับที่พบทั่วไปในยุโรป

ซัพพลายเชนแห่งอนาคต

สิ่งที่เรามีในตอนนี้คือ ปริมาณที่มาก นวัตกรรมสำหรับวิธีการต่างๆ และผู้บริโภคที่มีอำนาจในการจับจ่าย ในการจะรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นและไม่มีที่สิ้นสุด จีนจำเป็นต้องมีซัพพลายเชนอันดับต้นๆ ของโลก ถึงกระนั้นภาพรวมในปัจจุบันก็ยังคงซับซ้อน ด้วยวิธีการที่ทันสมัยต่างๆ เช่น การจัดส่งด้วยโดรน ที่อยู่ในกระบวนการที่ไม่มีมาตรฐานและไม่เป็นระบบ อีกทั้งแนวทางแก้ไขและตัวผู้ให้บริการเองไม่ประสานกัน ไม่เติบโต และไม่ตระหนักถึงการต้องมีประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและโอกาสในการเติบโต

แม้เหตุการณ์จะเป็นดังที่กล่าว แต่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้จีนอยู่ในจุดที่สามารถก้าวล้ำหน้าตลาดหลายๆ แห่งที่เติบโตมานานกว่าและพัฒนาซัพพลายเชนรุ่นต่อไปที่ทันท่วงที ยืดหยุ่น และมีการเชื่อมต่อกัน ต่อไปนี้คือสาเหตุที่เราคิดว่าซัพพลายเชนของจีนนั้นพร้อมที่จะเขย่าโลกแล้ว

ความใหม่ ปราศจากสิ่งตกทอดจากอดีต

แม้ตลาดที่พัฒนาแล้วจะมีมาตรฐานมากกว่าในเรื่องของแท่นวางของ พาหนะ และอุปกรณ์ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนากระบวนการทำงาน แต่ในหลายๆ กรณี ซัพพลายเชนของตลาดเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาสำหรับโลกที่ไม่มีอยู่อีกต่อไป เครือข่ายและกระบวนการที่มีมาเพื่อรองรับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ๆ นั้นกำลังถูกแทนที่ด้วยวิธีการซับซ้อนและราคาแพงเพื่อตอบสนองความต้องการของยุคที่มีช่องทางหลากหลายเพื่อความสะดวกของผู้บริโภค

ในขณะที่จีนมีรากฐานที่หมดจดกว่านั้นมาก โดยไม่มีภาระผูกพันจากสินทรัพย์และการลงทุนก้อนใหญ่และอุปกรณ์อัตโนมัติต่างๆ ดังเช่นในประเทศตะวันตก และมีโอกาสที่จะพัฒนาวิธีการใหม่ๆ ที่คล่องตัวกว่า ซึ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ ที่มีอยู่หลายแห่งในประเทศ โดยมุ่งเน้นที่ความสะดวกสบายและระบบออนไลน์ นี่คือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรม

เปรียบได้กับระบบรถไฟใต้ดินสมัยใหม่ที่ติดแอร์และปราศจากตู้โดยสารของดินแดนตะวันออกไกล กับระบบของที่อื่นๆ เช่น ในลอนดอน เป็นต้น ด้วยความที่ลอนดอนเป็นแห่งแรกๆ ที่มีระบบคมนาคม ทำให้ลอนดอนเป็นผู้นำมาเป็นระยะเวลานาน แต่ในปัจจุบัน ความจำเป็นในการดูแลรักษาระบบให้พร้อมรองรับผู้ใช้บริการนับล้านคนในแต่ละวันทำให้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะปรับปรุงเปลี่ยนโฉมระบบ ทำให้ความคืบหน้าเป็นไปทีละนิดและเชื่องช้า

ด้วยเหตุนี้ วิธีการที่จีนใช้เพื่อพัฒนาซัพพลายเชนจึงไม่ควรเลียนแบบจาก “ผู้นำ” ของโลก โดยยึดติดอยู่กับวงจรความเป็นผู้นำแบบเดิมๆ ที่มาพร้อมกับมรดกตกทอดที่ไม่อาจเลี่ยงได้ แต่ต้องใช้วิธีการที่ต่างออกไปตั้งแต่พื้นฐานเลย โดยมีเป้าหมายในการรับรองความพร้อมและตอบสนองสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การนำเอาแนวคิดและหลักการของอินเตอร์เน็ต เข้ามาประยุกต์ใช้ในการสร้างมาตรฐานและถ่ายโอนสินค้า ซึ่งสิ่งนี้เป็นข้อจำกัดอย่างเห็นได้ชัดในตลาดที่มีความคล่องตัวน้อยกว่า

เป้าหมายและความเป็นจริง

จีนมีเป้าหมายและแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนแปลง และมีโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ World Economic Forum ได้ระบุว่าการกำจัดข้อจำกัดทางด้านซัพพลายเชนนั้นจะส่งผลที่ยิ่งใหญ่ต่อเศรษฐกิจโลก2 การพัฒนาการจัดการพรมแดนและโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและการสื่อสารให้ได้เพียงครึ่งเดียวของแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในแต่ละตลาดนั้นจะช่วยเพิ่ม GDP ของทั้งโลกได้เกือบร้อยละ 5 นี่คือเหตุผลที่การพัฒนาซัพพลายเชนจึงไม่ควรเป็นเพียงเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจเท่านั้น แต่สำหรับรัฐบาลและประเทศชาติเช่นกัน

จากแนวโน้มของการชะลอตัวในเศรษฐกิจจีนและพัฒนาการของซัพพลายเชนจีนในปัจจุบันนั้น ทำให้มีโอกาสครั้งใหญ่เกิดขึ้น รัฐบาลยังได้สร้างแรงจูงใจเพิ่มเติมด้วยเป้าหมายในการลดการปล่อยคาร์บอนและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นจุดเด่นใน “แผนห้าปี” ที่มีเมื่อไม่นานมานี้ ในขณะที่จีนมีความสามารถในการเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วในแง่ของการออกกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเช่นกันที่จะต้องนำเอาฝ่ายต่างๆ ในตลาดที่แยกจากกัน เข้ามารวมกันในการเดินทางครั้งนี้ เพื่อให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน ดังนั้น รูปแบบอื่นๆ ของการให้ผลตอบแทนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

จีนเปิดกว้างต่อการเรียนรู้แนวปฏิบัติจากนานาชาติเป็นอย่างมาก ต่างจากตลาดที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วบางแห่ง ซึ่งไม่ต้อนรับแนวคิดจากภายนอก อย่างไรก็ตาม ก็ต้องทำความเข้าใจในหลักการเพื่อให้สามารถปรับใช้วิธีการต่างๆ ในตลาดที่มีความเฉพาะตัวแห่งนี้ได้ จากการสำรวจเมื่อไม่นานมานี้ที่ทำขึ้นโดย PwC3 พบว่าร้อยละ 38 ของบริษัทนานาชาติที่ดำเนินงานในประเทศจีนมองว่าบริษัทจีนมีแนวคิดทันสมัยกว่าพวกเขาเองในแง่ของซัพพลายเชน (เทียบกับร้อยละ 27 ที่มองว่าตนเองมีแนวคิดทันสมัยกว่า) จิตวิญญาณแห่งความสร้างสรรค์ประกอบกับความร่วมมือในวงที่กว้างขึ้นและการสร้างมาตรฐานสามารถปลดปล่อยพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ได้

การคว้าโอกาสไว้

ยังคงมีความท้าทายหลงเหลืออยู่ ด้วยความที่ตลาดแยกเป็นส่วนๆ ทำให้ไม่มีบริษัทใดที่ใหญ่พอจะสร้างผลกระทบต่อตลาดได้โดยลำพัง และเส้นทางที่อยู่ข้างหน้าก็ไม่ง่ายและต้องอาศัยการประสานงานและความร่วมมือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นดังคำที่ซุนวูได้กล่าวไว้ว่า “ในความวุ่นวายนั้นย่อมมีโอกาสอยู่”

Darren Smillie: Customer Supply Chain Insight Manager, IGD
1 KPMG Mobile Banking Report 2015
2 World Economic Forum Enabling Trade Report 2013
3 Strategy&, PwC, 2014 China Innovation Survey