Your browser does not support JavaScript!

ระบบอัตโนมัติคาดว่าจะเริ่มใช้ได้ในปี 2579

กระทรวงการคมนาคมมีแผนจะสร้าง “ระบบอัตโนมัติ” ทั่วประเทศภายในปี 2579 ด้วยเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนาความสามารถทางการแข่งขันด้านโลจิสติกส์

แผนแม่บทการคมนาคมของประเทศไทยนั้นถูกร่างขึ้นในปี 2560 โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบการคมนาคมและโลจิสติกส์ที่สอดคล้องกับโครงการริเริ่มของรัฐบาลที่จะเปลี่ยนประเทศให้เป็นฐานอุตสาหกรรมไฮเทค นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าว

สามด้านหลักที่ต้องพัฒนาคือ การคมนาคมที่ครอบคลุม ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม โดยทางกระทรวงหวังว่าจะสามารถลดปริมาณพลังงานที่ใช้ในการคมนาคมได้ร้อยละ 15

ทางกระทรวงกล่าวว่า การแก้ปัญหาและจัดการการจราจรที่ดีขึ้นอาจช่วยลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนได้ร้อยละ 2.8 และลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจกได้ถึงร้อยละ 20

คาดว่าภายใน 20 ปี ประมาณร้อยละ 50 ของผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณกรุงเทพฯ และปริมณฑลน่าจะได้ใช้ระบบขนส่งมวลชน ในขณะที่ร้อยละ 60 ของผู้ที่เดินทางระหว่างจังหวัดต่างๆ น่าจะได้ใช้ระบบขนส่งมวลชน นายธีระพงษ์กล่าว

ในการจะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ทางกระทรวงจะต้องลงทุนกับเทคโนโลยีและเครื่องมือในการจัดการโลจิสติกส์และการขนส่ง

“รถรุ่นใหม่ๆ นั้นอัจฉริยะมาก และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าเราควรก้าวไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์ไฮเทคได้แล้ว” นายธีระพงษ์กล่าว “ในอนาคตเราอยากจะใช้ระบบแบบอัตโนมัติแทนป้ายจราจรต่างๆ ให้หมด”

ยานพาหนะทุกคันต้องมีระบบ GPS เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคมนาคม รวมทั้งความปลอดภัย และพฤติกรรมของผู้ขับขี่ก็จะอยู่ภายใต้การควบคุมโดยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายนี้ต้องอาศัยพัฒนาการด้านทรัพยากรมนุษย์และไอที โดยเฉพาะสำหรับระบบโลจิสติกส์

“ระบบอัตโนมัตินั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคนไทยเลย” นายธีระพงษ์กล่าวในงานสัมมนาด้านการคมนาคมในสัปดาห์ที่แล้ว “ระบบนี้จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ระบบคมนาคมโดยรวม”

เขากล่าวด้วยว่ารัฐบาลกำลังหวังจะมีหุ้นส่วนทางเทคโนโลยีที่จะสร้างกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อเชื่อมโยงสินทรัพย์และผู้คนเข้าด้วยกันให้ดีขึ้น และเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในการคมนาคมจะช่วยแก้ปัญหาหลักๆ ได้ทั้งหมด

นายหลี่ เผิง เจ้าหน้าที่ด้านการนำร่องการสื่อสารและการสำรวจในระดับภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) กล่าวว่าธุรกิจการเดินทางทางอากาศจะเติบโตขึ้นอีกในเอเชียแปซิฟิก

ICAO จะต้องเผชิญกับความท้าทายที่มาพร้อมกับการเติบโตนี้ เช่น การรักษามาตรฐานทางการบินและความปลอดภัย

นายหลี่กล่าวว่า ICAO จะต้องร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอำนาจและองค์กรอื่นๆ อีก เพื่อพัฒนาคุณภาพการจราจรทางอากาศโดยภาพรวม

นายมาริโอ ฮาร์ดี ผู้บริหารระดับสูงของสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกล่าวว่าวงการท่องเที่ยวและการเดินทางที่กำลังเติบโตจะสร้างโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีก

เขาแนะว่ารัฐบาลควรช่วยเหลือบริษัทสตาร์ทอัพและธุรกิจขนาดเล็กให้ใช้ประโยชน์จากการเติบโตของวงการท่องเที่ยวนี้ ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพในสิงคโปร์นั้นเฟื่องฟูขึ้นหลังจากได้รับการสนับสนุนด้านการเงินจากทางรัฐบาล เป็นต้น

ลิงก์อ้างอิง: www.bangkokpost.com/business/1487302/autonomous-system-scheduled-for-2036

เมชิตา ลาภสุวรรณ

อัพเดทล่าสุด 20 ธันวาคม 2018

เมชิตาเป็นบรรณาธิการของ Logisticsbid ประเทศไทยมาตั้งแต่ริเริ่ม โดยเธอสำเร็จการศึกษาด้านการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน และเป็นคนสำคัญในการคิดและนำเสนอเนื้อหาด้านโลจิสติกส์ที่เป็นประโยชน์