ประเทศไทยสามารถเรียนรู้จากเกาหลีใต้ในการพัฒนาและผลักดันอีคอมเมิร์ซไปสู่ตลาดโลก รัฐบาลของประเทศเกาหลีใต้มีเป้าหมายที่จะสร้างผู้ส่งออกในรูปแบบอีคอมเมิร์ซระดับโลกให้มากถึง 15,000 รายให้ได้ภายใน 3 ปีข้างหน้า หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งของเกาหลีใต้ได้ร่วมมือกันผลักดันธุรกิจอีคอมเมิร์ซโดยมุ่งเน้นไปที่ร้านค้าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือธุรกิจ SMEs ที่มีศักยภาพในการไปสู่การค้าออนไลน์ในระดับโลก
เกาหลีใต้จะวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่เพื่อผลักดันการเติบโตของธุรกิจ SMEs โดยมุ่งเน้นการส่งออกซึ่งปัจจุบันมีความเฟื่องฟูจากกระแสความนิยม K-Pop ในตลาดต่างชาติ ให้ขยายไปยังส่วนอื่นๆ เช่นผลิตภัณฑ์ด้านความงาม แฟชั่น เครื่องเขียนและอื่นๆ อีกมากมาย การค้าออนไลน์ในตลาดโลกถูกคาดการณ์ว่าจะขยับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ต่อปีจนถึงปี 2565 และมีมูลค่ารวมถึง 5.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
เนื่องจากผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซออนไลน์เหล่านี้เป็นธุรกิจ SMEs ที่ส่งออกผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายในปริมาณที่ค่อนข้างน้อยให้กับลูกค้าทั่วโลก ความสามารถในการแข่งขันของพวกเขาโดยรวมจะขึ้นอยู่ที่ประสิทธิภาพในด้านโลจิสติกส์ วิธีการอย่างหนึ่งที่รัฐบาลสามารถช่วยสนับสนุนได้ก็คือการสร้างแพลตฟอร์มโลจิสติกส์พื้นฐานที่มีขนาดใหญ่ให้ทันสมัย พร้อมด้วยระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ บริการทางศุลการกรแบบออนไลน์ รวมถึงระบบฐานข้อมูลอัตโนมัติและระบบเอกสารที่ดีเพื่อสนับสนุนผู้ส่งออก
เกาหลีใต้ยังวางแผนที่จะจัดตั้งสำนักงานในอินเดียและสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยผลักดันบริษัทสตาร์ทอัพเข้าสู่ตลาดโลกและเชื่อมต่อกับบริษัทข้ามชาติได้ โปรแกรมการจับคู่และโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพเป็นส่วนสำคัญของกลยุทธ์โดยรวมของเกาหลีในการบ่มเพาะและขยายธุรกิจ SMEs อีคอมเมิร์ซซึ่งถือได้ว่าเป็นกระดูกสันหลังของเศรษฐกิจ
ในประเทศไทย ธุรกิจ SMEs ก็มีความสำคัญมากไม่ต่างกัน พวกเขาต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมากในการที่จะเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซโลก เพราะไม่มีทรัพยากรที่จะสามารถเข้าสู่ตลาดส่งออกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต่างจากผู้ส่งออกรายใหญ่ๆ ผู้เล่นรายย่อยเหล่านี้ที่วันหนึ่งอาจโตเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ จึงต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐบาล ภาครัฐสามารถรวมผู้เล่นรายเล็กจำนวนมากไว้ด้วยกันและให้บริการแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ขั้นพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ดังเช่นเกาหลีใต้ที่พบว่าโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพจะเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันที่สำคัญ และสามารถสร้างหรือทำลายผู้ส่งออกรายย่อยซึ่งยังไม่ใหญ่เพียงพอที่จะเกิดการประหยัดต่อขนาดและมีผลกำไรจากการประกอบการได้
โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สามารถมีเข้ามามีบทบาทในการเป็นศูนย์กลางแพลตฟอร์มโลจิสติกส์ขั้นพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยมุ่งเน้นที่ตลาดอีคอมเมิร์ซโลก การสร้างความร่วมมือกับผู้เล่นรายใหญ่ เช่น อาลีบาบา และอเมซอน ก็สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ไทยในการเข้าถึงตลาดอีคอมเมิร์ซระดับโลกได้ ซึ่งที่ผ่านมาธุรกิจเหล่านี้ยึดติดกับตลาดส่งออกแบบเดิมเป็นหลัก
ในความเป็นจริงประเทศไทยควรมุ่งเน้นไปที่ตลาดอินโดจีน ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์ ซึ่งอีคอมเมิร์ซกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ไปแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล นอกจากนี้ อินเดียที่มีประชากร 1.3 พันล้านคนยังมีศักยภาพอย่างมากเนื่องจากอัตราการขยายตัวของสมาร์ทโฟนที่สูงขึ้นทำให้การค้าออนไลน์เกิดขึ้นได้และน่าสนใจ
ลิงก์อ้างอิง: www.nationthailand.com/opinion/30369553