อุตสาหกรรมโลจิสติกส์อยู่ในสามอันดับแรกของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ตาม ระดับการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์ ยังน้อยกว่าภาคธุรกิจอื่น เช่น ด้านการเงิน อย่างมาก
ยกตัวอย่าง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาสตาร์ทอัพในกลุ่ม E-commerce และ Fintech แต่ละกลุ่มได้สามารถระดมทุนสำเร็จมากกว่า 1,500 รอบ ในขณะที่กลุ่มบริษัทโลจิสติกส์ มีการระดมทุนเพียง 400 รอบเท่านั้น
การขาดการลงทุนนี้สะท้อนว่า ผู้ที่เพิ่งเริ่มธุรกิจเข้าสู่ตลาดโลจิสติกส์มักจะเผชิญกับการแข่งขัน หรือคู่แข่งที่น้อยกว่า (ยกเว้นการขนส่งสินค้าประเภท last-mile หรือขาสุดท้ายที่ส่งตรงถึงผู้บริโภค)
สิ่งที่สำคัญกว่าขนาดโดยรวมของตลาด คือ โครงสร้างของตลาดโลจิสติกส์ ตัวอย่างเช่น ในสิงคโปร์ มีบริษัทโลจิสติกส์มากกว่า 7,000 แห่ง และร้อยละ 80 ของบริษัทขนส่งมีรถบรรทุกไม่เกิน 10 คัน ผลที่ตามมาคือ ตลาดที่ไม่มีประสิทธิภาพอย่างมาก เช่น ในสิงค์โปร์ ร้อยละ 50 เกิดการวิ่งรถเที่ยวเปล่า ความไร้ประสิทธิภาพของตลาดเหล่านี้ เหมาะกับการนำเทคโนโลยีมาเพื่อรวมอุปสงค์และอุปทาน ให้ข้อมูลเชิงลึกและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการดำเนินงาน
E-commerce ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบัน มีการเติบโตมากกว่าร้อยละ 50 ต่อปี แต่ยังคงสัดส่วนยอดขายน้อยกว่าร้อยละ 3 ของยอดค้าปลีกทั้งหมด
ตามความเห็นของเรา โอกาสสำหรับการลงทุนระยะเริ่มต้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการชำระเงินมีจำกัด เนื่องจากในตลาดมีบริษัทที่ให้บริการด้านการชำระเงินขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนในระดับสูงอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก ต่างกับกลุ่มโลจิสติกส์ที่มีบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินในระดับสูงน้อยกว่า ตัวอย่างเช่น คลังสินค้าถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญในซัพพลายเชนของ E-Commerce แต่คลังสินค้าส่วนใหญ่ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อช่วยในการจัดการสต็อค และการเชื่อมต่อการจัดเก็บเข้ากับการขนส่งในขาสุดท้าย ในระดับน้อยมาก
E-commerce ยังก่อให้เกิดความต้องการที่แตกต่างในเครือข่ายของโลจิสติกส์ ขนาดการขนส่งจะเล็กลงและบ่อยขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงมากกว่าการขนส่งแบบเหมาคันหรือเหมาตู้ FTL/FCL (Full-Truckload / Full Container Load)
เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขนส่งสำหรับ E-Commerce ทั้งในการจัดการต้นทุนและการเพิ่มความยืดหยุ่นของซัพพลายเชน
ก่อนหน้านี้ การขนส่งไม่ได้มีความสำคัญกับธุรกิจค้าปลีกและผู้ผลิตรายใหญ่ แต่ E-Commerce เข้ามาเปลี่ยนความสำคัญให้กับการขนส่งในด้านความพึงพอใจของลูกค้า โดยมากกว่าร้อยละ 40 ของการรีวิวผลิตภัณฑ์บนเว็บไซต์ E-Commerce จะเป็นการรีวิวเกี่ยวกับการขนส่งมากกว่าตัวผลิตภัณฑ์
ปัจจุบัน ลูกค้ามีความต้องการการส่งของที่รวดเร็ว ประหยัด สามารถติดตามสินค้าได้ ดังนั้น ผู้ค้าในธุรกิจ E-Commerce จะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีโลจิสติกส์อย่างครอบคลุมและหลากหลายเพื่อตอบสนองต่อความต้องการเหล่านั้น
อัตรากำไรของอุตสาหกรรมโลจิสติกส์โดยปกติอยู่ในอัตราที่ต่ำ จึงทำให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถนำเสนอเทคโนโลยีมาใช้ในการลดต้นทุน
ตัวอย่างเช่น อัตรากำไรในเอเชีย (ยกเว้นจีน) ลดลงจากร้อยละ 30 ในปี 2007 เหลือเพียงร้อยละ 10 ในปี 2017 ดังนั้น บริษัทขนส่งจึงพยายามหาทางแก้ปัญหา ที่สามารถช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อรับมือกับอัตรากำไรที่มีแนวโน้มลดลง
เทคโนโลยีที่สามารถลดต้นทุนได้เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ก็จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสามารถในการทำกำไร ในทางตรงกันข้าม อุตสาหกรรมที่มีอัตรากำไรสูง (เช่น ด้านการเงิน หรือด้านสุขภาพ) จะให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนน้อยมาก เนื่องจากไม่ได้สร้างความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญต่อผลกำไร
ธุรกิจโลจิสติกส์มักไม่ถูกควบคุมโดยกฎหรือข้อบังคับที่เข้มงวดมาก เมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น การเงิน การประกันภัย หรือการดูแลสุขภาพ ด้วยกฎข้อบังคับที่น้อยกว่า ช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ลิงก์อ้างอิง: e27.co/5-reasons-to-be-bullish-on-logistics-tech-in-asia-20190815/